30 เมษายน 2557

การปักฉลุ

ไปเจอเรื่องการปักฉลุในหนังสือเก่ามากๆ เล่มนึง ทำให้ย้อนวัยไปสมัยเด็กๆ ที่เคยเอาผ้าม่านหน้าต่างสีขาวปักฉลุที่แม่ทำ มานั่งชื่นชมว่าผู้ใหญ่เขาทำกันได้อย่างไร ทั้งอดทนนั่งปักผ้าให้เป็นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ที่อ่อนช้อยสวยงาม บางส่วนก็มีเจาะผ้าเป็นวงที่ล้อมด้วยด้ายปัก พอโตมาก็ไม่เห็นใครมานั่งปักผ้าแบบนี้กันอีกแล้ว เพราะมีผ้าม่านสำเร็จรูปที่คัทเวอร์คด้วยจักรปักขายเยอะแยะไป ผู้หญิงสมัยนี้ก็ทำงานนอกบ้านกันทั้งนั้น แต่พอเห็นลายปักฉลุเหล่านี้แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเอามาบันทึกไว้กันลืม หากวันไหนมีเวลา เราจะใช้ผ้าคอตต้อนหรือผ้ามัสลินสีขาวมาปักและฉลุลวดลายแบบนี้ เป็นม่านหน้าต่างหรือปลอกหมอนให้ได้สักผืนหนึ่ง

การปักฉลุนี้เป็นงานฝีมือดั้งเดิมทางแถบยุโรป ลวดลายหลักมี 4 สไตล์ คือ

  • Venetian embroidery หรือ เวนิสสไตล์ เป็นการปักฉลุที่เลียนแบบลวดลายลูกไม้ของชาวเวนิส ส่วนลายปักที่หนาและนูน จะใช้การวางไหมควบ 6-8 เส้น เป็นฐานก่อนปักเส้นทึบปิดทับลงไป
  • Renaissance embroidery เป็นการปักฉลุที่มีลวดลายละเอียดซับซ้อนตามสไตล์เรอเนสซองส์ของฝรั่งเศส ลักษณะเฉพาะของการปักคือการปักห่วงเล็กจิ๋ว ไว้ตามขอบหรือเส้นปักเป็นระยะ เพื่อใช้ร้อยห่วงคล้องกระดุม 
ที่มา : Therese deDillmont.. Encyclopedia of needlework. 1st English edition pub. 1886. cf. Pataky.
  •  Richelieu embroidery เป็นการปักลวดลายไสตล์ฝรั่งเศสเช่นกัน มีการปักห่วงเล็กๆ เช่นเดียวกับแบบ Renaissance แต่ลวดลายจะอ่อนช้อยแบบเครื่องประดับมากกว่า
  • Madeira embroidery ลวดลายการปักฉลุแบบ Madeira มีต้นกำเนิดมาจากเกาะ Madeira ประเทศโปรตุเกส เป็นลายปักที่นิยมในประเทศอังกฤษ ลวดลายเฉพาะคือ ปักเป็นวงกลมหรือกลีบดอกไม้และฉลุช่องตรงกลาง รวมถึงการปักฉลุเรียงเป็นโค้งหยักแบบเปลือกหอย  เราจะคุ้นเคยกับลายปักแบบนี้ เพราะในลูกไม้ผ้าฝ้ายที่ปักฉลุด้วยเครื่องจักรจะใช้ลวดลายแบบนี้เป็นส่วนใหญ่
พอเห็นแล้วถ้าอยากปัก ลองดูลวดลายแบบ Madeira ไหมคะ 

ใช้ปักชายผ้า จะเป็นผ้าม่าน ผ้าคลุมโต๊ะ หรือชายเสื้อ ก็ได้ค่ะ โดยลอกลายลงบนผ้า ขึงด้วยสะดึงให้ตึงแน่น แล้วใช้ไหมปักชนิดเดียวกับที่ใช้ปักครอสติช เบอร์ 5 ปักทึบแบบคัทเวอร์คตามแนวเส้นที่ร่างไว้ เสร็จแล้วจึงค่อยใช้กรรไกรปลายแหลมค่อยๆ ฉลุผ้าส่วนที่อยู่ตรงกลางออกค่ะ

ที่มา : Therese deDillmont.. Encyclopedia of needlework. 1st English edition pub. 1886. cf. Pataky.